เมนู

ราชวรรควรรณนาที่ 4


อรรถกถาจักกสูตร


พึงทราบวินิจฉัยในจักกสูตรที่ 1 แห่งวรรคที่ 4 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ธมฺเมน ได้แก่ โดยกุศลธรรม 10. บทว่า จกฺกํ ได้แก่
อาณาจักร. บทว่า อตฺถญฺญู ได้แก่ รู้ประโยชน์แห่งราชสมบัติ. บทว่า
ธมฺมญฺญู ได้แก่ รู้ธรรมคือประเพณี. บทว่า มตฺตญฺญู ได้แก่ รู้ประมาณ
ในการลงราชอาชญาหรือในการเก็บภาษีอากร. บทว่า กาลญฺญู ได้แก่ รู้เวลา
เสวยสุขในราชสมบัติ เวลากระทำการวินิจฉัย และเวลาเสด็จจาริกไปในชนบท.
บทว่า ปริสญฺญู ได้แก่ รู้ว่า นี้ชุมนุมกษัตริย์ นี้ชุมนุมพราหมณ์ นี้ชุมนุม
แพศย์ นี้ชุมนุมศูทร นี้ชุมนุมสมณะ.
ในตถาคตวาร พึงทราบเนื้อความดังนี้. บทว่า อตฺถญฺญู ได้แก่
รู้อรรถ 5. บทว่า ธมฺมญฺญู ได้แก่ รู้ธรรม 4. บทว่า มตฺตญฺญู ได้แก่
รู้ประมาณในการรับและบริโภคปัจจัย 4. บทว่า กาลญญู ได้แก่ รู้กาล
อย่างนี้ว่า นี้เวลาหลีกเร้น นี้เวลาเข้าสมาบัติ นี้เวลาแสดงธรรม นี้เวลาจาริก
ไปในชนบท. บทว่า ปริสญฺญู ได้แก่ รู้ว่า นี้บริษัทกษัตริย์ ฯลฯ นี้บริษัท-
สมณะ. บทว่า อนุตฺตรํ ได้แก่ ยอดเยี่ยมโดยโลกุตรธรรม 9. บทว่า
ธมฺมจกฺกํ ได้แก่ จักรอันประเสริฐที่สุด.
จบอรรถกถาจักกสูตรที่ 1

2. อนุวัตตนสูตร


ว่าด้วยองค์คุณของพระสารีบุตรและโอรสพระเจ้าจักรพรรดิ


[132] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้า-
จักรพรรดิทรงประกอบด้วยองค์ 5 ประการ ย่อมทรงยังจักรที่พระราชบิดา
ทรงให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยธรรมทีเดียว จักรนั้นย่อมเป็นจักรอัน
มนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใด ๆ จะต้านทานมิได้ องค์ 5 ประการเป็นไฉน คือ
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงรู้จักผล 1 ทรงรู้จักเหตุ 1
ทรงรู้จักประมาณ 1 ทรงรู้จักกาล 1 ทรงรู้จักบริษัท 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงประกอบด้วยองค์ 5 ประการ
นี้แล ย่อมทรงยังจักรที่พระราชบิดาทรงให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามโดยธรรม
ทีเดียว จักรนั้นย่อมเป็นจักรอันมนุษย์ผู้เป็นข้าศึกใด ๆ จะต้านทานมิได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรประกอบด้วยธรรม 5 ประการ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมที่ตถาคตให้เป็นไปแล้ว ให้เป็น
ไปตามโดยชอบเทียว ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา
มาร พรหม หรือใครในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ธรรม 5 ประการเป็นไฉน
คือ พระสารีบุตรในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักผล 1 รู้จักเหตุ 1 รู้จักประมาณ 1
รู้จักกาล 1 รู้จักบริษัท 1
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสารีบุตรประกอบด้วย
ธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมยังธรรมจักรชั้นเยี่ยม ที่ตถาคตให้เป็นไปแล้ว
ให้เป็นไปตามโดยชอบเทียว ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้.
จบอนุวัตตนสูตรที่ 2